Persona คืออะไร จำเป็นไหมกับ การทำการตลาด พร้อมตัวอย่าง!

UPDATE : 2023/03/13

Persona

SHARE : Facebook share Line share Twitter share Link shareCopied

ทำความรู้จักลูกค้าและแบรนด์ก่อนเริ่มวางแผนการตลาดผ่านการทำ Persona หรือลูกค้าสมมติ เพื่อทำการตลาดได้ตรงจุด ไม่สิ้นเปลืองเวลา และงบประมาณไปกับกลุ่มที่ไม่จำเป็น ช่วยเพิ่มผลลัพธ์ให้แบรนด์มากขึ้น

แล้ว Persona คืออะไร?

Persona คือ การจำลองว่าลูกค้าของแบรนด์จะต้องมีบุคลิกลักษณะ พฤติกรรม ไลฟ์สไตล์อย่างไร โดยกำหนดอย่างละเอียดว่าเป็นอย่างไร ให้เสมือนว่าคนคนนั้นมีตัวตนจริงๆ ยิ่งกำหนดรายละเอียดต่างๆ ได้ชัดเจนมากเท่าไร ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดว่าเป้าหมายคือใคร และทำให้รู้ว่าควรสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายนี้ด้วยวิธีไหน และอย่างไร เพราะการทำการจำลองตัวอย่างลูกค้าจะทำให้รู้ว่า สินค้าหรือบริการของแบรนด์ทำขึ้นมาเพื่อขายให้กับคนแบบไหน

Persona สำคัญอย่างไรกับ การทำการตลาด? 

การทำ Personaจะช่วยให้นักการตลาดเข้าใจแบรนด์ และกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ว่าเป็นกลุ่มคนลักษณะไหน มีพฤติกรรมอย่างไร จริงอยู่ที่ข้อมูลเหล่านี้เราอาจดูจากสถิติหลังบ้านหรือสอบถามจากผู้เกี่ยวข้องได้ แต่การทำ Personaจะช่วยให้คุณเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และช่วยสรุปข้อมูลทั้งหลายให้ออกมาเป็นตัวแทนกลุ่มเป้าหมายของคุณ 

เมื่อเราทราบข้อมูล และเห็นภาพชัดเจน ก็จะส่งผลไปสู่การผลิตเนื้อหาคอนเทนต์ที่สามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตอบโจทย์ หรือรู้ช่องทางการวางขายสินค้าว่าควรเป็นที่ไหนถึงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุด หากคุณทำการตลาดโดยไม่ทราบว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร แล้วคุณจะสื่อสารกับเขาได้อย่างไร

หากไม่ต้องการเสียเวลาโฟกัสคนผิดกลุ่ม หรือกระจายงบประมาณที่มีเพื่อเอาใจคนทุกกลุ่ม การทำ Personaอาจเป็นคำตอบให้กับการทำการตลาดของคุณ

ต้องใช้ข้อมูลอะไรบ้างในการทำ?

อันที่จริงข้อมูลที่ควรใส่ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าหรือบริการแต่ละประเภทว่าเน้นหรือให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง ไม่มีข้อกำหนดตายตัว แต่ในบทความนี้ขอแนะนำหัวข้อหลักๆ ที่นำไปใช้ได้กับสินค้าและบริการแทบทุกประเภท

  1. ชื่อ – ตั้งชื่อให้ลูกค้าสมมติเพื่อให้คุณและทีมรู้สึกว่าลูกค้าคนนี้มีตัวตนจริงๆ และอาจเพิ่มฉายาเพื่อให้เห็นภาพและคาแรกเตอร์ชัดเจนขึ้น เช่น แอนนี่ เจ้าแม่เทคโนโลยี, บอล ทาสแมว เป็นต้น
  2. เพศ – หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยแนะแนวทางการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายให้ตรงกับจริตของลูกค้า
  3. อายุ – อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยกำหนดวิธีการที่จะสื่อสารกับเป้าหมายเช่นเดียวกับเพศ กลุ่มวัยรุ่น กับ กลุ่มวัยทำงาน ก็ต้องใช้ Key message หรือสำนวนการพูดที่ต่างกันเพื่อดึงดูดให้เกิดความสนใจ
  4. สถานะ – คนโสด และคนแต่งงาน หรือมีบุตรแล้ว ก็มีเรื่องที่สนใจ หรือวิธีการคิดที่ต่างกัน
  5. ที่อยู่ – ทำให้รู้ว่าควรสื่อสารไปที่พื้นที่ไหน หรือพื้นที่นั้นใช้วิธีการเดินทางอย่างไร เพื่อใช้บริเวณที่การสัญจรผ่านเป็นพื้นที่สื่อ
  6. อาชีพ – การรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายประกอบอาชีพอะไร ตำแหน่งอะไร จะช่วยบอกใบ้ไลฟ์สไตล์ ความรู้ ความสนใจบางอย่างได้
  7. รายได้ – เมื่อรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเราคือคนที่มีรายได้ระดับไหน จะช่วยให้เราสามารถจำกัดกลุ่มเป้าหมายให้แคบลงได้ว่าใครคือลูกค้าของแบรนด์
  8. งานอดิเรก/ เรื่องที่สนใจ – อาจนำไปต่อยอดในการเลือก KOL หรือเลือกสื่อว่าช่องทางไหนที่จะสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้
  9. สื่อหรือคนที่ติดตาม – สิ่งที่บอกว่าคนที่ส่งผลต่อความคิด สามารถโน้มน้าวได้คือใคร
  10. การศึกษา – พื้นหลังทางด้านการศึกษาบอกวิธีคิด ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวสินค้า หรือเรื่องต่างๆ ได้
  11. ปัญหา Pain point – การบริโภคสินค้าของคู่แข่งมีจุดไหนที่เป็น Pain point และเราสามารถอุดรอยรั่วนี้ได้อย่างไร

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าข้อมูลที่ควรใส่ใน Personaนั้นขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าและบริการเป็นหลัก เช่น ถ้าสินค้าคือบริการเครื่องมือ CRM ก็อาจเพิ่มหัวข้อว่ากลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจด้านโปรแกรมมิ่งมากน้อยเพียงใดเข้ามา เป็นต้น

ตัวอย่างการทำ Personaแบบใช้ได้จริง

เช่น คุณกำลังทำการตลาดโปรโมตภาพยนตร์สยองขวัญให้ค่ายภาพยนตร์แห่งหนึ่ง คุณจึงเริ่มรวบรวมข้อมูลจนได้ตัวอย่างกลุ่มลูกค้าออกมาดังนี้

Persona ตัวอย่าง

Persona A

ก้อง เรื่องผีเลิฟเวอร์

เพศ : ชาย

อายุ : 32 ปี

ที่อยู่ : คอนโดย่าน BTS อุดมสุข

อาชีพ : พนักงานบริษัทแผนก IT

รายได้ : 30,000-40,000 บาท

งานอดิเรก / เรื่องที่สนใจ : ฟุตบอล, ยูทูป, หนังสยองขวัญ

Background : 

จบวิศวะคอมพ์ ตอนนี้ทำงานในบริษัทเอกชน แผนก IT นอนดึกอยู่บ่อยๆ เพราะตามเชียร์ฟุตบอลทีมโปรดตอนกลางสัปดาห์ แต่ตื่นสายได้ไม่มีปัญหา เพราะคอนโดอยู่ห่างจากรถไฟฟ้าไม่มาก เวลาว่างหรือตอนรอดูฟุตบอล ชอบดูยูทูป เรียกว่าเป็นนักเสพคอนเทนต์ตัวยง โดยเฉพาะคอนเทนต์แนวสยองขวัญที่ไม่ได้ติดตามแค่ในยูทูป แต่รายการทางโทรทัศน์หรือวิทยุก็ดูและฟัง ยิ่งดูตอนดึกๆ ยิ่งได้บรรยากาศ

Goal :

ดูหนังสยองขวัญในโรงตั้งแต่วันแรกๆ เพราะต้องการหลบสปอยล์ แต่ก่อนไป ก็จะตามอ่านรีวิว ถ้าเรื่องไหนรีวิวไม่ดีก็อาจจะไม่ไป

Marketing Plan : 

เมื่อเราทราบว่าคนชอบดูหนังสยองขวัญติดตามรายการแนวนี้ทางโทรทัศน์หรือวิทยุ เราก็อาจจะลิสต์รายการที่มีเนื้อหาแนวนี้ เพื่อติดต่อขอซื้อพื้นที่โฆษณาโปรโมตภาพยนตร์ หรือถ้าเราทราบแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS ก็อาจซื้อโฆษณาป้ายโฆษณาตามขนส่งสาธารณะอย่าง BTS, MRT หรือคิดแผนโปรโมตที่พื้นที่เหล่านี้ให้เกิดกระแสไวรัลต่อ เป็นต้น

สรุปแล้วการทำ Personaจะช่วยให้คุณเห็นภาพของกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น ทำให้สามารถคิดแนวทางการสื่อสารได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ใช้ Persona เป็นเครื่องมือในการช่วยคิดแผนมาร์เก็ตติ้งในครั้งหน้าดู

หรือถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร DTK AD สามารถให้คำปรึกษาทางด้าน การทำการตลาด ออนไลน์มาร์เก็ตติ้งได้ตั้งแต่ขั้นแรก ด้วยประสบการณ์ด้านนี้กว่า 9 ปี

อ่านบทความด้านการตลาดเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารที่นักการตลาดต้องรู้ อัปเดตใหม่เรื่อยๆ ที่ Facebook: DTK AD Co., Ltd.

DTK AD

 

รัตนาภรณ์ วานิชย์หานนท์
Rattnaporn Wanithanon

SHARE : Facebook share Line share Twitter share Link shareCopied

บทความแนะนำ

เร็วๆ นี้

    ติดต่อสอบถามได้ที่นี่
    โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อเรา